Sunday, August 16, 2009

40 ปีการพัฒนาชาวเขา(4)

ก้าวแรกการพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา เริ่มแรกของการพัฒนาชาวเขาโดยภาครัฐนั้น เป็นการมองเห็นปัญหาโดย หน่วยตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งออกไปปฏิบัติภารกิจ ในบริเวณที่ใกล้ชายแดนและท้องที่ห่างไกลคมนาคมและพบว่าประชาชนหลายกลุ่มที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวมีสภาพความเป็นอยู่อย่างยากไร้ สุขภาพอนามัยไม่ดี ขาดการศึกษา พูดภาษาไทยไม่ได้ ปัญหาของพวกเขาช่วงนั้นถูกมองว่าเป็น ปัญหาด้านสวัสดิการ (Welfare Problem) รัฐบาลจึงมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการสงเคราะห์ประชาชนไกลคมนาคม” ขึ้น เมื่อ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2494 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และ ให้ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นหน่วยหลักในการแก้ไขปัญหาระดับสนาม โดยได้รับการสนับสนุนส่วนใหญ่ในด้านสิ่งบริโภค และอุปโภคที่จำเป็นสำหรับให้ความช่วยเหลือ ชาวเขา จาก กรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งอธิบดีกรมฯ มีฐานะเป็นกรรมการ อยู่ในคณะกรรมการสงเคราะห์ประชาชนไกลคมนาคม
หลังจากเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานระดับภาคสนามได้สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งไกลคมนาคมมากยิ่งขึ้น กระทรวงมหาดไทย (กระทรวงต้นสังกัดของกรมประสงเคราะห์ในขณะนั้น) ได้มองเห็นปัญหาชาวเขาอีกหลายประการ ที่เกิดจากวิถีชีวิตในด้านความเป็นอยู่และ การทำกินที่ส่งผลกระทบหรือล่อแหลมที่ทำให้เกิดอันตรายต่อส่วนรวมได้ จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาปรับปรุงคณะกรรมการสงเคราะห์ประชาชนไกลคมนาคม และเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการสงเคราะห์ชาวเขา” ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2502 ในสมัยรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คณะกรรมการชุดนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลเอกประภาส จารุเสถียร) เป็นประธานกรรมการ มีอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์เป็นกรรมการและผู้อำนวยการกองนิคมสร้างตนเอง เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งถือได้ว่าเป็น องค์กรระดับชาติองค์กรแรก ที่มีหน้าที่วางนโยบายชาวเขา
สำหรับปัญหาที่รัฐบาลมองเห็นว่าจะส่งผลกระทบกระเทือน ต่อส่วนรวมในขณะนั้น ได้แก่ การทำลายป่าไม้ต้นน้ำลำธาร อันเกิดจากการทำไร่แบบโค่นถางป่าและย้ายที่ ซึ่งเรียกว่าการทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขา การปลูกฝิ่นของชาวเขา ซึ่งถือว่าเป็นต้นตอของปัญหายาเสพติด และ ปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัย โดยเฉพาะบริเวณชายแดนซึ่งมีการบ่อนทำลายชักจูงชาวเขาจากฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล อย่างไรก็ดีในขณะนั้นถึงแม้รัฐบาลได้มองเห็นปัญหาของชาวเขาแบบแยกแยะออกเป็นหลายประการ แต่ก็ยังไม่มีสภาพการณ์ที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักให้แก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งโดยเฉพาะ กรมประชาสงเคราะห์ จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน และดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชาวเขานับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2502 เป็นต้นมา

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.