Sunday, August 16, 2009

40 ปีการพัฒนาชาวเขา(2)

การอพยพของชาวเขาเข้ามาสู่ประเทศไทย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี พบว่าชาวเขาบางเผ่าโดยเฉพาะเผ่าละว้า (ลัวะ) และกะเหรี่ยง ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานานมาแล้ว หากพิจารณาระยะเวลาการอพยพเข้ามาและทิศทางที่ใช้ในการอพยพแล้ว อาจแบ่งชาวเขาออกเป็น 2 สาขาใหญ่ ดังนี้
1. ชนชาติที่อพยพจากทิศได้ไปสู่ภูมิภาคทางเหนือเรียกว่า พวกตระกูลออสโตรนีเซียน (Austronesian Stock) ได้แก่ ชนชาติมอญ, เขมร ชนพวกนี้มีเชื้อสายเดียวกับพวก ละว้า, ขมุ, ข่าฮ่อ และข่าถิ่น ที่อาศัยในบริเวณหุบเขาเตี้ย ๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย
2. ชนชาติที่อพยพจากทิศเหนือไปสู่ภูมิภาคได้ ได้แก่ชาวจีนธิเบต (Sino-Tibetan) ซึ่งได้อพยพลงใต้ตามเส้นทางลักษณะเดียวกับชนชาติไทย แต่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สูงกว่า โดยเฉลี่ยประมาณ 3,500-5,000 ฟุต พวกจีนธิเบตนี้แยกสาขาออกได้เป็น 2 พวก คือ
ก. พวกธิเบต-พม่า (Tibeto-Burman) ได้แก่ เผ่าอีก้อ ลีซอ มูเซอ และกะเหรี่ยง เผ่ามูเซอได้แก่มูเซอดำ มูเซอแดง มูเซอซี และมูเซอเชเล เผ่ากะเหรี่ยงได้แก่ กะเหรี่ยงสะกอ กะเหรี่ยง บาเว และตองสู ซึ่งได้อพยพมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยในบริเวณจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และมีกระจัดกระจายในเขตจังหวัดเชียงราย ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชรกาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ในขณะที่ชาวเขาเผ่าลีซอ มูเซอ และอีก้อ อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก
ข. พวกจีนเดิม (Main-Chinese) ได้แก่ แม้ว เย้า และจีนฮ่อ ซึ่งเมื่ออพยพเข้าสู่ประเทศไทยแล้วได้กระจัดกระจายไปตั้งถิ่นฐานในจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือและภาคตะวันตก เช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน เชียงราย และตาก จากการค้นคว้าเอกสารอ้างอิงเกี่ยวกับความเป็นมาของชาวเขาได้กล่าวเกี่ยวกับการอพยพของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เข้าสู่ประเทศไทยว่า ชาวเขาทั้งหกเผ่า คือ กะเหรี่ยง แม้ว เย้า มูเซอ อีก้อ และลีซอ ได้อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคกลางตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่ง ขนบธรรมเนียมบางอย่างในชนพวกนี้ยังแสดงถึงการได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมของจีนอย่างเห็นได้ชัด เผ่าลีซอ อีก้อ และมูเซอ ใช้ภาษาที่แตกแขนงมาจากรากเดียวกัน คือ ยิ (Yi, Lolo) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งในตะกูลภาษาธิเบต-พม่า โดยกล่าวว่า มูเซอ และอีก้อ ได้ทะยอยกันพอยพจากแคว้นยูนนานในจีนลงสู่ทางด้านตะวันออกของพม่า และภาคเหนือของลาว ในราวต้นคริสตศวรรษที่ยี่สิบนี้เอง ที่ทั้งสองเผ่าเริ่มค่อย ๆ เคลื่อนย้ายจากพม่าเข้ามาทางภาคเหนือของไทย มีน้อยมากที่มาจากลาว สำหรับอีก้อนั้น ไม่มีอพยพมาจากลาวเลย ส่วนเผ่าลีซออพยพจากจีนมาอยู่ทางตอนเหนือของพม่า และบางส่วนได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทย สำหรับแม้วและเย้าใช้ภาษาของตระกูลทางจีน-ธิเบต สองเผ่านี้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยผ่านทางประเทศลาว ส่วนกะเหรี่ยงยังไม่มีการศึกษาแน่ชัดว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ที่ไหน เพราะในดินแดนภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน หรือตะวันออกเฉียงใต้ของธิเบต ซึ่งคาดว่าเป็นถิ่นเดิมของกะเหรี่ยงนั้น ในปัจจุบันไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีชนเผ่ากะเหรี่ยงตั้งบ้านเรือนหรืออาศัยอยู่เลย ชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงนับเป็นเผ่าที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.