Sunday, August 16, 2009

40 ปีการพัฒนาชาวเขา(6)

กำเนิดองค์กร “กองสงเคราะห์ชาวเขา” ปีพ.ศ. 2505 ซึ่งนับยี่สิบสองปีให้หลังที่กรมประชาสงเคราะห์ได้รับการสถาปนา (ปีพ.ศ. 2483) รัฐบาลจึงได้จัดตั้ง กองสงเคราะห์ชาวเขา ขึ้น ตามนัยพระราชกฤษฎีกาการแบ่งส่วนราชการกรมประชาสงเคราะห์ พ.ศ.2505 ณ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2505 โดยแยกการบริหารงานสงเคราะห์ชาวเขา ออกจากกองนิคมสร้างตนเอง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นแหล่งกลางการประสานงาน และเป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการสงเคราะห์ชาวเขา และเพื่อที่จะให้การสงเคราะห์ชาวเขาได้ผลดีตามความมุ่งหมาย โดยมี นายประสิทธิ์ ดิศวัฒน์ รับตำแหน่งหัวหน้ากองสงเคราะห์ชาวเขา เป็นท่านแรก
แม้ว่าโครงการนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขา จะยังผลให้ชาวเขามีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ก็ถือว่าได้รับความสำเร็จน้อยกว่าที่คาดหวังไว้ เพราะชาวเขาไม่ยอมละทิ้งถิ่นที่อยู่เดิมซึ่งเคยอยู่อย่างอิสระเข้าไปอยู่ในนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขาได้ โดยง่าย ทั้งยังไม่ต้องการอยู่รวมกันหลายๆ เผ่า เนื่องจากความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการสงเคราะห์ชาวเขา จึงได้มีมติให้จัดตั้ง ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ขึ้น ในปี พ.ศ. 2506 ที่ จังหวัดตาก และ ในปีพ.ศ. 2507 ที่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการอำนวยการจัดส่งให้ หน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาเคลื่อนที่ ออกปฏิบัติงานตามหมู่บ้านชาวเขา และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการทดลองและส่งเสริมการเกษตรบนภูเขา การคมนาคมบนเขา การจำหน่ายผลิตผลของชาวเขา พร้อมทั้งเป็นสำนักงานกลางของคณะกรรมการชาวเขาส่วนจังหวัด เป็นเลขานุการของคณะอนุกรรมการชาวเขาส่วนจังหวัดและเป็นแหล่งกลางในการประสานงานพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาในพื้นที่รับผิดชอบด้วย
หลังการจัดตั้งกองสงเคราะห์ชาวเขา ในปีพ.ศ. 2508 กรมประชาสงเคราะห์ก็ได้จัดตั้ง ศูนย์วิจัยชาวเขา ขึ้น ในบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ปัจจุบันคือสถาบันวิจัยชาวเขา) เพื่อทำการ ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับชาวเขาเผ่าต่างๆ แล้วนำผลมาใช้ในการวางนโยบาย แผนงาน โครงการ และการดำเนินงานพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา ให้ได้ผลดียิ่งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์ได้นำ ผลการวิจัยมาใช้เพื่อการพัฒนา ดังปรากฏผลทางนโยบายในหลายๆ เรื่องและขยายผลในทางปฏิบัติในเวลาต่อมา เช่น การประกาศใช้นโยบายรวมพวก (Policy of Integration) ในปีพ.ศ. 2519 และให้ใช้การพัฒนาแบบเขตพื้นที่โดยระบบสมบูรณ์แบบ (Zonal Integrated Development) ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาที่เน้นการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวลาดชันในพื้นที่ลุ่มน้ำ (Watershed Area) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและหยุดยั้งการทำไร่เลื่อนลอย เปลี่ยนมาเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบถาวรให้ชาวเขาตั้งถิ่นฐานถาวรเป็นหลักแหล่ง เป็นต้น
การจัดส่งหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาเคลื่อนที่ ซึ่งประกอบด้วย พนักงานประชาสงเคราะห์ เป็นหัวหน้าหน่วยฯ มีพนักงานเกษตรและพนักงานอนามัยเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยฯ ในบางหน่วยฯ อาจจะมีครูสอนชาวเขาและล่ามชาวเขาด้วย ออกปฏิบัติงานตามหมู่บ้านชาวเขา ในระยะแรกๆ นั้น ได้ปฏิบัติงานเน้นหนักไปใน ด้านการสร้างความสัมพันธ์ สำรวจข้อมูลจุดที่ตั้งหมู่บ้านชาวเขา ให้การรักษาพยาบาล และให้คำแนะนำในด้านการเกษตร ตลอดทั้งพิจารณาเลือกหมู่บ้านชาวเขาที่จะตั้งเป็นหมู่บ้านตัวอย่าง ซึ่งในการสร้างความสัมพันธ์กับชาวเขานั้น คณะกรรมการสงเคราะห์ชาวเขาเห็นว่ามีความสำคัญมาก จึงได้มีมติให้จัดตั้ง โครงการชาวเขาสัมพันธ์ ขึ้น เพื่อโน้มน้าวให้ชาวเขามีความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง เคารพในองค์พระมหากษัตริย์ มีความรักและหวงแหนแผ่นดิน เป็นกำลังสำคัญในการรักษาความปลอดภัยทางชายแดน ซึ่งในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวนี้ กรมประชาสงเคราะห์ โดยกองสงเคราะห์ชาวเขา ได้ขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเอเชีย เพื่อจัดตั้งโครงการพระธรรมจาริก ขึ้น ร่วมกับคณะสงฆ์ ในปีพ.ศ. 2508 เพื่อส่งพระสงฆ์คณะหนึ่งเรียกว่า “คณะพระธรรมจาริก”ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่ชาวเขา พร้อมทั้งจัดตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นตามหมู่บ้านชาวเขาที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่อมาในปีพ.ศ. 2513 จึงได้จัดตั้งมูลนิธิเผยแพร่พุทธศาสนาแก่ชนถิ่นกันดารในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.