Sunday, August 16, 2009

40 ปีการพัฒนาชาวเขา(3)




        ในปี พ.ศ. 2502 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสงเคราะห์ชาวเขาขึ้นในประเทศไทย และได้มีการกำหนดว่า ชาวเขา หมายถึง กลุ่มชนเผ่า แม้ว เย้า มูเซอ ลีซอ กะเหรี่ยง ละว้า ถิ่น และขมุ ที่อพยพจากประเทศลาวเข้ามาสู่ประเทศไทยก่อน พ.ศ. 2518 หรืออพยพจากประเทศพม่าเข้ามาสู่ประเทศไทย ก่อน พ.ศ. 2519 โดยผู้อพยพมาหลังปีดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศให้ถือว่าคนเหล่านั้นไม่ว่าเป็นกลุ่มหรือเป็นบุคคล เป็นผู้หลบหนี้เข้าประเทศ หรือผู้เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องผลักดัน หรือถูกจับกุมลงโทษ ประกาศดังกล่าวได้แสดงให้เห็นนโยบายของทางราชการซึ่งถือว่าชนเขาที่อพยพเข้ามาภายในข้อกำหนดดังกล่าวเป็นประชากรที่รัฐบาลต้องการพัฒนาให้มีคุณภาพ และให้สัญชาติไทยแก่พวกเขา การตั้งถิ่นฐานของชาวเขาในประเทศไทย

         เริ่มการอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่ประเทศไทยนั้นชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ได้เริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณชายแดนประเทศก่อน และค่อย ๆ กระจายตัวไปตามเทือกเขาและที่ราบลุ่มในหุบเขาต่าง ๆ ในภาคเหนือ และภาคตะวันตกโดยเลือกตั้งถิ่นฐานตามวัฒนธรรมและความเคยชิน เช่น พวกกะเหรี่ยงมักจะเลือกตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มใหญ่ในบริเวณที่ราบลุ่ม ขณะที่พวกแม้ว, มูเซอ มักจะตั้งบ้านเรือนบริเวณสันเขาสูง โดยทั่วไปจะไม่มีการแบ่งถิ่นเป็นเขตแคว้นที่แน่นอนในการตั้งถิ่นฐานของแต่ละเผ่า แต่อาจจะสรุปได้ว่า แต่ละเผ่ามีการตั้งถิ่นฐานหนาแน่นในจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้


  • เผ่าแม้ว ตั้งถิ่นฐานหนาแน่นในเขตจังหวัดน่าน เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน แพร่ กำแพงเพชร พิษณุโลก และนครสวรรค์
  • เผ่าเย้าตั้งถิ่นฐานหนาแน่นในเขตจังหวัดพะเยา เชียงราย น่าน ลำปาง เชียงใหม่ และกำแพงเพชร 
  •  เผ่าลีซอ มูเซอ และอีก้อ ตั้งถิ่นฐานหนาแน่นในจังเชียงราย เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน สำหรับมูเซอมีการตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มใหญ่ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร อีกจังหวัดหนึ่งด้วย 
  • เผ่ากะเหรี่ยง ตั้งถิ่นฐานหนาแน่นในเขตจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน แพร่ อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

    
         เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ทำกินที่ลดน้อยลงในปัจจุบันและปัญหาเกี่ยวกับป่าสงวนแห่งชาติ การเคลื่อนย้ายไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณอื่น ๆ จึงมีมากขึ้น เช่น การตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านแม้วและเย้า ในเขตจังหวัดสุโขทัย เป็นต้น เมื่อกล่าวถึง“ชาวเขา”หรือ “ชาวไทยภูเขา” แล้ว โดยทั่วไปเรามักจะนึก ถึง ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมประเพณี สีสันของการแต่งกายที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชนเผ่า ชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่ายบนเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ห่างไกลเส้นทางการคมนาคม ปัญหาทางด้านความมั่นคง ปัญหายาเสพติด การตัดไม้ทำลายป่า และความเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม ฯลฯ ขึ้นอยู่กับการที่ได้สัมผัสจากประสบการณ์ การรับข้อมูลข่าวสาร และมิติมุมมองที่แตกต่างกันออกไป“ชาวเขา”ความหลากหลายบนพื้นที่สูง

          ความหมายของ คำว่า “ชาวเขา” กองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ ได้ นิยาม “ชาวเขา” ว่า หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าหลัก 10 เผ่า คือ กะเหรี่ยง (สกอว์ โปว์ ตองสู้ ฯลฯ) แม้ว (ม้ง) มูเซอ (ลาหู่) เย้า (เมี่ยน) อีก้อ (อาข่า) ถิ่น ลีซอ (ลีซู) ลัวะ (ละว้า) ขมุ และ ตองเหลือง (มลาบรี) ซึ่งแต่ละชนเผ่าก็มีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านภาษา ศาสนา ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งแตกต่างจากคนไทยโดยส่วนใหญ่ จากข้อมูลทำเนียบชุมชนบนพื้นที่สูง 20 จังหวัด ในประเทศไทย ปีพ.ศ. 2540 พบว่ามีชาวเขาอาศัยตั้งถิ่นฐานทำกินกระจายตัวอยู่บนพื้นที่สูงของ 20 จังหวัด ทางตอนเหนือและด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เลย สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก อุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ในพื้นที่ 4,192 กลุ่มบ้าน มีประชากรทั้งสิ้น 873,713 คน “ชาวเขา” จึงนับเป็นความหลากหลายและความแตกต่างของชาติพันธุ์ที่กระจายตัวอยู่บนพื้นที่สูงห่างไกลและทุรกันดาร

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.