Latest Post

Saturday, September 26, 2009

35 ปี กับพี่น้องม้ง-ตอน 4 (จบ)

|0 ความคิดเห็น
35 ปี กับพี่น้องม้ง-ตอน 4 (จบ)

            ขณะนี้ ผมก็ยังคงอยู่ปฏิบัติงานพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา บ้านน้ำคับน้ำจวงอยู่โดยทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยฯ หัวหน้าเขตฯ และผู้ประสานงานชาวเขา อำเภอชาติตระการ เป็นเวลาสิบกว่าปีมาแล้ว เหตุการณ์ที่ไม่รุนแรงอะไร ก็ไม่ขอเอามากล่าว แต่ก็มีอยู่ 2 ครั้ง คือ ปี 2536 ที่บ้านน้ำจวงที่ผมรับผิดชอบ วันนั้นเป็นเทศกาลปีใหม่ของชาวเขาและเป็นวันสุดท้ายจะปิดงาน
            บนเวทีการแสดงก็มีกลุ่มเยาวชน ร้องรำ ทำเพลงกันอยู่ เวลา 20.00 น. ผมและคณะครู ศศช. กศน. ก็อยากมีส่วนร่วมกับการแสดงจึงขอยืมชุดชาวเขามาใส่ และฝึกซ้อมกันก่อนขึ้นเวทีการแสดง ทันใดก็มีเสียงปืนดังขึ้น 4 นัด ซ้อนกันในบริเวรการแสดง ประชาชนคนดูต่างวิ่งเอาตัวรอดคนละทิศทาง ผมมองไปที่เกิดเหตุ เห็นทหาร 2 คน ถูกยิงล้มลง ส่วนอีกคนถูกยิงเป็นชาวเขา วิ่งหนีไปแต่ไปไม่ไหวล้มลงเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว พวกผมกับผู้ใหญ่บ้านได้จัดหารถยนต์ ส่งผู้บาดเจ็บไปรักษาโรงพยาบาล ทหาร 2 คน ถูกยิงปากฟันร่วงแต่ไม่ตาย นี่แหละครับการพัฒนากับกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หัวรุนแรงอุดมการณ์ก็เกิดขึ้นอีกจำได้ว่าวันที่ 5 ธันวาคม 2542 เป็นวันพ่อแห่งชาติ ผมและข้าราชการในพื้นที่พร้อมทั้งประชาชนชาวเขาชาย – หญิง ในหมู่บ้านร่วมกันจุดเทียนชัยถวายพระพรและสดุดีมหาราชาพร้อมกับทางกรุงเทพฯ และเมื่อถวายพระพรเสร็จ เราก็ฉาย วีดีทัศน์ ให้ประชาชนเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ขณะที่กำลังฉาย วีดีทัศน์ อยู่ก็มีชาวเขาเข้ามาแจ้ง หน่วยทหารที่ชมหนังอยู่กับพวกผมว่าคนพื้นราบที่ขึ้นมารับจ้างปลูกป่าถูกยิง 2 คน ทหาร 3 นายพร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วยอาวุธไปดูที่เกิดเหตุ ห่างจากพวกผม 300 เมตร


             เมื่อทหารไปถึงเห็นมีคนตาย 2 คน ทหารจึงยิงปืนเอ็ม 16 ขึ้นฟ้ารัวถี่ไป 1 ชุด ในขณะเดียวกัน คณะครูจากโรงเรียนของการประถมศึกษา กำลังดื่มกันสนุก นึกว่าทหารยิงปืนเฉลิมพระเกียรติ ก็เลยยิงปืนลูกโม่ประจำตัวตอบโต้ไปอีก 3 นัด ส่วนพวกผมดูแลการฉาย วีดีทัศน์ อยู่บริเวณจัดกิจกรรมก็เลยคิดว่าทหาร กับผู้ยิงปะทะกันแล้ว จะฉายหนังกันอยู่ทำไมประชาชนต่างวิ่งกลับบ้านใครบ้านมัน พวกผมก็รับเก็บโทรทัศน์และวีดีทัศน์แทบไม่ทัน รีบนำเครื่องเข้าห้องพักปิดประตูห้อง แล้วหาข้าวปลาอาหารมากินมื้อเย็นเวลา 20.00 น.

             พวกเรา 4 คน ร่วมครู กศน. ร่วมรับประทานอาหารกันโดยนั่งกับพื้นปูนซีเมนต์ในห้องครัว(ไม่ได้ดื่มเหล้า) หิวข้าวมากกินข้าวใกล้อิ่มกันแล้วสักครู่ก็มีเสียงมอเตอร์ไซด์มาเรียกให้พวกเราเปิด จำได้ว่าเป็นครูจากโรงเรียนการประถมศึกษาในหมู่บ้านฯเอง พวกเราก็เปิดประตูให้ เขามาขอซื้อของเพิ่มเติม ขณะที่เปิดประตูไว้และภรรยาครูหยิบของให้ผู้มาซื้อของนั้นเอง เสียงปืนดังปัง! ครูผู้มาซื้อของล้มลงทับอาหารจานข้าวของผมไม่พูดสักคำ ส่วนภรรยาครูร้องบอกว่าถูกยิงที่แขน ผมแน่ใจแล้วว่าคนร้ายตามมายิงพวกเรา อยู่ไม่ได้แล้ววิ่งออกจากที่พักอีกด้านหนึ่ง ยกมือพนมท่วมหัวขอพระคุ้มครองด้วยวิ่งลัดเลาะไปบอกผู้ใหญบ้านและกรรมการมาช่วย ผู้ใหญ่บ้านและกรรมการก็ ผกค.เก่าเมื่อทราบข่าวก็นำกำลังพร้อมอาวุธมาช่วย นำหน้าเคลียพื้นที่เกิดเหตุว่าปลอดภัยก็ส่งสัญญาณให้ผมเข้ามาได้ พวกเราได้ช่วยกันหามครู ขึ้นรถบรรทุกปิกอัพส่งโรงพยาบาลอำเภอชาติตระการในคืนนั้นพอถึงเวลาเช้ามาตรวจบริเวณที่เกิดเหตุ ปืนที่ยิงเป็นปืนลูกซองครูผู้ถูกยิงลูกเข้ากลางหลัง 4 ลูก ส่วนภรรยาครู กศน. ถูกยิงที่แขน 1 ลูกเป็นลูกปืนที่ยิงถูกวงกบประตูแล้วอ่อนตัวถูกแขนบาดเจ็บเล็กน้อย ส่วนลูกปืนอีก 4 ลูก ผ่านเหนือศีรษะพวกผมไป ถูกฝาบ้านด้านตรงกันข้าม เมื่อมาคิดดูแล้วมันเป็นดวงของเราที่ไม่ถึงที่บาดเจ็บ หรือตายถ้าลุกขึ้นยืน หรือมีธุระเปิดประตูออกไปข้างนอก จะเป็นใครก็แล้วแต่จะเป็นเป้ากระสุนปืนแน่นอน

          ทุกวันนี้ ผมก็ยังดูแลพัฒนาหมู่บ้านนี้อยู่อีกต่อไป และมาคิดย้อนถึงอดีตที่ผ่านมากว่า 30 ปี ผมก็คือนักบุญผู้มีแต่ให้ คนไม่มีข้าวสารอาหารแห้งบริโภคก็หามาให้ ผู้เจ็บป่วยก็ให้เยียวยาผู้ต้องการความรู้ก็สอนหนังสือและส่งไปเรียนจนมีงานทำ และอีกหลาย ๆ อย่างที่ทำมาแล้ว และภูมิใจตนเองที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมายรวมทั้งผู้ที่เราให้การสงเคราะห์ ไปหมู่บ้านชาวเขาที่ไหน มีแต่คนรู้จักยกมือไหว้เคารพนับถือ เราภูมิใจที่ได้เป็นปูชนียะบุคคล ถึงยากจนไม่ร่ำรวยก้พอใจกับสภาพของตนเอง คงจะไม่รอคอยแล้ว ซี 6 – ซี 7 เพราะอีกไม่เกิน 2 ปี ผมก็พักผ่อนเกษียนอายุราชการ แต่ขณะนี้ยังไม่ท้อแท้ต่อการทำงานแต่อย่างใด เพราะผมถือคติที่ว่า “ใจหนุ่มในร่างแก่ ยังดีกว่าใจท้อแท้ในร่างหนุ่ม”
โดย กฤษณ์ ฤทธิ์รอด

35 ปี กับพี่น้องม้ง-ตอน 3

|0 ความคิดเห็น

           มีหมู่บ้านหนึ่งอยู่บนที่สูง เรียกว่าบ้านป่ายาน ต.กกสะทอน อ.ด้านซ้าย จ.เลย ราษฎรส่วนหนึ่งไม่หนีออกจากหมู่บ้านไปร่วมกับผกค.แต่อยู่ทำไร่ในพื้นที่ต่อไปโดยมีทหารพล และทหารม้า คุ้มครอง ดูแลอยู่ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์มาตลอดเวลา 2 ปีครึ่ง ทางกองทัพภาคที่ 3 อพยพประชาชนบ้านยานทั้งหมดโดยผู้เข้มแข็งเดินด้วยเท้า เด็กและคนชรานั่งเฮลิคอปเตอร์ ชาวเขากว่า 500 คน อพยพลงมาจึงมาตั้งศูนย์อพยพที่บ้านเข็กน้อยในปัจจุบันนี้ โดยมีทหารพลป่าหวายลพบุรีเป็นผู้ฝึกชาวเขาอาสาสมัครคุ้มกันดูแลความปลอดภัย และแล้วคำสั่งให้ผมไปปฏิบัติงานบุกเบิกให้การช่วยเหลือชาวเขาอพยพใหม่ ก็มาถึงขณะนั้น โดยมี ท่านสุรัช บุนยามิน เป็นหัวหน้าศูนย์
          ในเดือนสิงหาคม 2514 ผมโดยมีท่านพิมล แสงสว่าง เป็นหัวหน้าหน่วยฯก็เดินทางไปปฏิบัติงานในแดนผกค. กำลังรุงแรงไปอยู่ใหม่ไม่มีที่พักต้องพักกับทหารในหลุมบังเกอร์ ภาระกิจก็จ่ายข้าวสาร อาหารแห้งให้ผู้อพยพและให้การรักษาพยาบาล มีอยู่คืนหนึ่งกำลังนั่งกินข้าวอยู่ที่ครัวอาหาร ผกค. ก็ยิงเข้ามาแหย่ที่ฐานทหารอาสาสมัคร ทหารสั่งให้พวกผมหลบที่บังเกอร์ ทั้งปืนใหญ่ ปืน คอ ถูกยิงไปยังจุดหมาย ผกค. ผมสังเกตุว่าปืนใหญ่ยิงแต่ละครั้งตะเกียงก็ดับหมด เพราะลมแรงมาก แต่พวกผมก็ปลอดภัยทุกคนในเดือนต่อมา ผู้บัญชาการทหารบกมาตรวจเยี่ยม ผมจำได้ว่า พล.เอก สุรกิจ ไมยลาภ ผบทบ. มาเยี่ยมชาวเขาอพยพแล้วสั่งการว่า เด็กวัยเรียนเหล่านี้ปล่อยไว้ไม่ได้ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของกรมประชาสงเคราะห์รับผิดชอบสอนหนังสือด้วย เป็นอันว่าผมต้องรับผิดชอบเด็กนักเรียนซึ่งมีนักเรียนเดิมอยู่ 3 ชั้น คือ ป.1 ป.2 และป.3 มีนักเรียน 65 คน บางวันก็สอนคนเดียว 3 ชั้น และบางครั้งท่านพิมล แสงสว่าง หน.หน่วยฯ ก็มาช่วยสอนไปตามปกติ มีอยู่วันหนึ่งจำได้ว่าปี 2515 ผกค. รบดุเดือดมากทหารเรือนาวิกโยธินและทหารจากกองพลทหารม้ารักษาพระองค์มาช่วยรบ และตั้งแค้มป์อยู่ใกล้ๆห้องที่ผมสอนหนังสือ ขณะที่สอนหนังสือก็มีชาวบ้านมาขอร้องขอให้ไปดูแลลูกเขาป่วยมาก ผมก็หยุดสอนเด็กและนำยารักษาโรคไปช่วยเหลือผู้ป่วย จากนั้นก็มาสอนหนังสือเด็กต่ออีก ไม่นานขณะเวลาประมาณ 10.00 น. ผกค.เข้ามาดักซุ่มยิงทหารใกล้ที่ผมสอนหนังสือ จากนั้นเสียงปืนกลและปืน ค. ยิงออกไปใกล้ที่ผมสอนหนังสือ ผู้กองทหารมาสั่งให้ผมหยุดสอนหนังสือและนำนักเรียนกลับบ้านกลัวไม่ปลอดภัย ผมและนักเรียนทั้งหมด ทั้งเดินและวิ่งกลับบ้านกัน 


            พวกเราอาศัยพักอยู่ ในบังเกอร์กับค่ายทหารมานานแล้ว ควรมีบ้านพักที่ทำการของเราบ้าง ฉะนั้นเราจึงขอแรงชาวบ้านไปตัดไม้ และแบกไม้ในป่ามาสร้างและขอกำลังทหารติดอาวุธพร้อมทุกคนเข้าเคลียพื้นที่ และล้อมบริเวณตัดไม้ไว้จนกว่าจะแบกไม้มาถึงที่ก่อ สร้าง พวกเราสร้างบ้านพักได้ 1 หลัง โดยขุดดินใต้ถุนบ้านลึกไว้เป็นที่หลบกระสุนปืน การพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาก็เป็นไปตามแผน แต่เหตุการณ์สำคัญๆ ก็ยังมีอีกมากซึ่งไม่สามารถที่จะนำมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านฟังได้หมด จากปี พ.ศ. 2516 ก็จะตัดไปปี พ.ศ. 2523 ถึง 2525 ผมได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเพชรบูรณ์ งาน ปจว. และหาข่าวตามพื้นที่สีชมพู ฉายหนังเวลากลางคืน ประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้ประชาชนทราบ มาถึงปี พ.ศ. 2525 ผกค. ในเขต 3 จังหวัด ยอมจำนนเข้ามอบตัวกับทางราชการหมดทุกเขตงานฉะนั้นในเขตเดือนตุลาคม 2525 ศูนย์จังหวัดเพชรบูรณ์ โดย ผอ. สมัช พุทธพิทักษ์ ได้ส่งตัวผมไปปฏิบัติงานบุกเบิกหมู่บ้านที่ ผกค. มอบตัวใหม่ คือ บ้านขุนน้ำคับ น้ำจวง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก โดยมีผมและนายทัศนะ ทรงสวัสดิ์วงศ์ ล่ามชาวเขา ออกเดินทางด้วยเท้าเดินขึ้นภูเขาสูงไปยังแดน ผกค. ยังอุ่น ๆ อยู่ เมื่อไปถึงพบชาวเขาชาย – หญิง ซึ่งอดีตเป็น ผกค. ยังใส่ชุดเขียวและบนหมวกยังมีดาวแดงติดอยู่ แต่ไม่ติดอาวุธมาคุยกับพวกเรา ดูกลุ่มบ้านสร้างไว้ใต้ต้นไม้ เพื่อป้องกันเครื่องบินมองเห็นและถูกโจมตี พวกเราสำรวจประชากรหมู่บ้านข้อมูลต่างๆ และพักค้างคืนบ้านชาวเขา เสร็จภารกิจแล้วเดินทางไปอีกหมู่บ้านหนึ่งต้องเดินตามรอยเท้าช้างป่า เพราะว่ามันไม่รกป่าไม่หนาทึบ และบาวครั้งครั้งทางต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ มันแสนลำบากเหลือเกิน

35 ปี กับพี่น้องม้ง-ตอน 2

|0 ความคิดเห็น
ประสบการณ์ชีวิตการทำงาน 35 ปี กับพี่น้องม้ง


            ต่อมาในเดือน มิถุนายน 2511 ผู้ใหญ่บ้านป่าหวาย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ตั้งหน่วยฯ เดิมของผม ถูกผกค. ยิงตายในฐานะไม่ให้ความร่วมมือกับผกค. ผมได้รับคำสั่งให้ไปช่วยเหลือและปลอบขวัญชาวบ้านและเป็นกำลังใจ มียาและสิ่งของไปแจกด้วย ผมและคณะ 3 คน เดินทางขึ้นเขาลงห้วยไปตามป่าเขา ระยะทาง 3 จังหวัดอย่างที่พูดไว้ข้างต้น เข้าไปอาศัยอยู่บ้านว่าง เวลากลางวันก็ปฏิบัติงานจิตวิทยา แต่พอตกกลางคืนนี่ซิมันน่ากลัวอะไรเช่นนั้น กลัวว่าจะยิงผู้ใหญ่บ้านตายแล้วถึงต่อไปต้องเป็นเจ้าหน้าที่ราชการบ้าง มีคืนหนึ่งผมและคณะนอนไม่หลับมันน่ากลัว ว่าผกค. จะย่องเข้ามาที่พักเราและจะยิงเรา
           นอนฟังเสียงเหยียบใบไม้แห้งดัง ก๊อบ แก๊บ ๆ อยู่ใกล้พวกผมเลยลุกไปแอบดูตามช่องรูบ้านด้วยความระมัดระวัง และกลัวมันดังอยู่ใกล้หัวนอนของเราเอง แต่แพวกเราแอบดูก็ตกใจมาก มันคือหนุ่มสาวกำลังบรรเลงรักกันอยู่ใกล้ที่นอนของเราเอง ไม่ใช่ผกค. มาซุ่มยิงเรา พวกเราก็หัวเราะและลงนอนหลับตื่นเช้าต่อไป ต่อมาในเดือน พฤศจิกายน 2511 กอ.ปค. จ.เพชรบูรณ์ได้ประสานขอหน่วยยูซิส หรือสำนักงานแถลงการณ์ข่าวอเมริกัน นำภาพยนต์ขาว – ดำ จอเล็กมาช่วยเป็นสื่อออกเดินสายไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ผมคนหนึ่งที่เป็นเจ้าหน้าที่ติดตามหน่วยนี้ไปขึ้นรถยนต์ไปและต้องเดินเท้าบ้างบางพื้นที่ มีครั้งหนึ่งขณะที่เราเดินทางกลับจากการ ปจว. โดยรถยนต์จี๊ปผ่านมาหลังภูลมโล เราก็พบก้อนหินขนาดใหญ่ขวางทางรถยนต์อยู่ ด้วยความซื่อผมและอีกคนก็ลงมางัดก้อนหินออกจากทาง แต่มาเสียวที่หลังเขาบอกว่า ผกค. มาดักยิง แต่ขณะเดียวกันชาวม้งก็เดินผ่านมาทั้งหญิงชาย เขาเลยไม่ยิง โอคุณพระช่วย! รอดไปได้ 
           แต่ต่อมาในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2511 คณะของเราก็เดินทางออกมาปฏิบัติงานในหมู่บ้านอื่น โดยเข้า ปจว. ฉายภาพยนต์กลางเพื่อเป็นสื่อเรียกรวมกันที่บ้านเข็กน้อยเก่า (ไม่ใช่บ้านเข็กน้อยในปัจจุบัน) จากนั้น ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2511 คณะของเราก็เดินทางไปเยี่ยมเยียนปฏิบัติการจิตวิทยาที่บ้านห้วยทรายใต้ ต.หนองกระท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ในคืนนั้นคณะของเราฉายภาพยนต์ขาว – ดำ เรื่อง “เหตุเกิดที่หมู่บ้านพังโพน” จำได้ว่าสุรสิทธิ์ กับ อภิญญา แสดงนำ ขณะกำลังฉายภาพยนต์ก็มีชาวเขาดูกันมาก เพราะว่าบ้านนี้มีหลายเผ่ามีแม้ว เย้า และลีซอ เมื่อฉายภาพยนต์เสร็จ ก็เข้าพักแรมที่พักหน่วยฯ ซึ่งมีคุณฉลอง นามสิบมาผู้ล่วงลับ ขออภัยที่เอ่ยชื่อ ผมกลับมานอนที่พักพร้อมกับคณะของ ยูซิสอีก 3 คน นอนไม่หลับสักทีพลิกซ้าย – ขวาก็ไม่หลับ จนกระทั่งเวลา 02.10 น. ผมก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 2 นัดซ้อน ปัง ปัง และก็ติดตามด้วยปืนยิงเร็ว ถี่ยิบ อยู่ในชุดใหญ่ จากนั้นเป็นเสียงระเบิดมือ ดังกึกก้องหลายลูก พวกเราจึงรู้ว่าห่างที่พักเราไปอีก 150 เมตร อยู่สูงกว่าเรา คือ ฐานปฏิบัติการชาวเขาอาสาสมัคร


              พวกเราทั้งหมดหนีออกจากที่พักกระโดดข้ามรั้วไปอย่างตกใจกลัวไปหลบอยู่ในป่าข้าง ๆ ที่พัก มือก็ถือปืนลูกโม่ .22 แม็กนั่ม มือก็สั่นไม่รู้จะยิงถูกหรือเปล่า มองไปที่เขายิงก็มองเห็นไฟลุกสว่างไสว เพราะ ผกค. ได้เผาที่พักแล้ว แต่พวกเราก็ไม่ยอมออกจากที่ซ่อนในป่า กลัวว่า ผกค. จะมายิงเราในที่พัก ประมาณครึ่งชั่วโมงเสียงปืนหยุดลง ก็มีเสียงร้องไห้กันโหยหวน และยิงปืนขึ้นฟ้า พวกเรารออยู่จนถึงเวลาตี 5 มีชาวเขามาเรียกเราว่า หัวหน้า ๆ เขายิงพวกเราตายหมดแล้ว พวกเราออกจากที่ซ่อน เดิมตามชาวม้งที่เดินออกหน้าทุกฝีก้าว เขาเดินเราก็เหยียบตามเขา เพราะกลัวกับระเบิดเมื่อไปถึงที่เกดเหตุ ภาพที่เห็นคือผู้ที่ถูกยิงตาย ถูกไฟไหม้ดำเกรียม เรียกว่าตายยกกำลังสองเลยเห็นภรรยาของผู้ตายมาจับกอดและร้องไห้กับศพ  

               ผมเดินตรวจดูนับศพได้ 10 ศพ มีอีกรายหนึ่งยังไม่ตายคลานออกมานอนอยู่นอกบริเวณไฟไหม้ หายใจอ่อน ๆ หน้าซีดเหลืองและมีไส้ออกมากองนอก ถูกลมพองตัว ผมยัดไส้เข้าไปในท้อง แล้วเอาผ้าขาวม้าพันไว้พอดีมีรถบรรทุกเหลืองของกรมทางหลวงมาดู และนำส่งมาโรงพยายบาลแต่ตายระหว่างทาง อีกศพหนึ่งเป็นทหารสิบเอกครูฝึก คลานออกมาตายนอกกองไฟ ใส่กางเกงกีฬาขาสั้นไม่ใส่เสื้อ บนหัวนอนมีสร้อยพระเครื่องแขวนไว้ ยังไม่ไหม้ไฟเลย ขณะเดินตรวจพบอีกคนคลานออกจากป่ามาตามเนื้อตัวมีแต่เศษลวดตัดขนาดสั้นเต็มตัวและแขน เรียกช่วยด้วยครับ ผมถูกยิงจนปืนหักคามือ เก็บปลอกกระสุนปืน อาการ์ได้เป็นสองจุดยิงประมาณร้อยกว่านัด พวกผมเลยเดินทางออกจากบริเวณที่เกิดเหตุ ไปรายงานเจ้านายในขณะนั้น คือ หัวหน้าเจริญ กสิวิวัฒน์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว จากนั้นหัวหน้าเจริญ และกระผมได้เดินทางมาเยี่ยมที่เกิดเหตุ นำผ้าห่มและสิ่งของมาแจกเป็นกำลังใจแก่ญาติผู้ตาย ฉะนั้นในวันที่ 20 ต่อ 21 พฤศจิกายน 2511 นี้ เป็นวันที่ผมจำได้ดีมากครับ


               กลับไปที่ตั้งปกติ คือ นิคมบ้านทับเบิก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ วันนั้นวันที่ 25 พฤศจิกายน 2511 หัวหน้าเจริญ กสิวิวัฒน์ จะไปตรวจแทรกเตอร์ สร้างถนนสายภูลมโล – ขี้เถ้า ได้ชวน คุณฉลอง นายสิบมาไปเป็นเพื่อน พร้อมคนขับรถ หัวหน้าได้ชวนผมไปด้วย แต่ผมบอกว่าได้เวลาหยุดพักผมแล้ว ผมจะลงไปในเมือง แล้วผมก็ขึ้นรถจิ๊ปออสเตรเลียกับพวกเดินทางกลับไปในเมือง ผมกลับมาถึงที่พักตลาดหล่มเก่า ได้ข่าวจากวิทยุ ตชด. แจ้งว่าเจ้าหน้าที่นิคมชาวเขาถูกยิง หลักภูลมโล นายฉลอง นายสิบมาตายคาที่ หัวหน้าเจริญกับคนขับรถบาดเจ็บเล็กน้อย เพื่อความแน่ใจผมกับญาติคนเจ็บและตายเดินทางไป อ.ด่านซ้าย จ.เลย เพื่อไปพูดวิทยุของ ตชด. ส่งไปบ้านขี้เถ้า อ.ด่านซ้าย ผลแน่ชัดว่า นายฉลอง ถูกยิงตายคาที่ ด้วยปืนคาบินถูกสมองทันที ขณะที่นำศพมาอยู่บ้านขี้เถ้า มีตชด. คุ้มกันอยู่ วันรุ่งขึ้นทางตำรวจจึงประสานขอเฮลิคอปเตอร์บินไปรับศพคนตายและผู้บาดเจ็บมาที่หน้าที่ว่าการอำเภอหล่มเก่า และจัดงานศพอย่างสมเกียรติ มีข้าราชการจากกรมประชาสงเคราะห์มาร่วมมากมาย จากนั้นนิคมชาวเขาบ้านทับเบิกก็ถูก ผกค. เข้าบุกยิงตำรวจคุ้มครองหมู่บ้าน และเผาที่ทำการบ้านพักเจ้าหน้าที่หมด และแล้วหมู่บ้านชาวเขา 3 จังหวัดทั้งหมดก็หนีไปร่วมกับ ผกค. บางส่วนก็หนีมามอบตัวกับทางราชการหลาย ๆ จุด โดยตั้งเป็นศูนย์อพยพชาวเขาตั้งแต่เดือนมกราคม 2512 ถึงกุมภาพันธ์ 2513 ผมจะไม่กล่าวถึงเรื่องการให้ความช่วยเหลือ จ่ายข้าวสาร อาหารแห้ง ต่าง ๆ ขอยุติไว้ก่อน

โดย กฤษณ์ ฤทธิ์รอด

35 ปี กับพี่น้องม้ง-ตอน 1

|0 ความคิดเห็น
ประสบการณ์ชีวิตการทำงาน 35 ปี (2534) กับพี่น้องม้ง 

          ผมเข้ามาทำงานสังกัดกรมประชาสงเคราะห์ เมื่อปลายปี พ.ศ.2509 โดยเข้าทำงานอยูที่นิคมสร้างตนเองของสงเคราะห์ชาวเขาบ้านทับเบิก ขณะนี้ก็คือ ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดเพชรบูรณ์ ในปัจจุบันนั้นเอง เรื่องราวและประสบการณ์ ชีวิตการทำงานของผมที่ผ่านมานี้เป็นเวลา 35 ปีนี้ มันเป็นความจริงทุกอย่างไม่ได้มีต่อเติมเสริมแต่อย่างใด และไม่ได้จดบันทึกไว้ในสมุดแต่อย่างใด ทุกอย่างมันอยู่ในความทรงจำขอผมมาตลอดเวลา 35 ปี
            ในปี พ.ศ.2510 ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยฯเคลื่อนที่มีหน้าที่ต้องเดินทางไปปฏิบัติงานตามหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ภาระกิจแต่ละเดือนต้องเดินขึ้นเขาไป ตลอดวันและในบางครั้งใน 1 วัน ผมเดินทางไปถึง 3 จังหวัด บนภูเขาสูงชันไปหมู่บ้านเป้าหมาย อย่างเพิ่งตกใจว่าเดินได้อย่างใด คือมันเป็นเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเข้าไปสู่จังหวัดเลย ระยะทางประมาณ 20 กว่ากิโลเมตร เพื่อไปอยู่ประจำปฏิบัติตนตามภาระกิจของหน่วย แล้วปลายเดือนพวกเราก็เดินทางกลับที่ตั้ง
             เป็นเช่นนี้มาเรื่อย ๆ ก็ไม่มีเหตุการณ์อะไร ต่อมาปี พ.ศ. 2511 ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของกรมประชาสงเคราะห์ เข้าปฏิบัติงานร่วมกับ พลเรือน ทหาร ตำรวจ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดย กอ.ปค. จ.เพชรบูรณ์ มีแผนต่อต้าน ผกค. ซึ่งมีข่าวว่า ผกค. เขตเขาค้อ กำลังสะสมกำลังและฝึกอาวุธ แต่ยังไม่ปฏิบัติการในเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เมษายน 2511 ผมถูกส่งทางเฮลิคอปเตอร์ ขึ้นไปประจำอยู่บนยอดเข้าค้อ เพื่อปฏิบัติการทางจิตวิทยา ต้องนอนและกินอยู่ร่วมกับทหาร ตำรวจ เวลากลางคืนต้องยืนถือปืนเข้าเวร ผลัดเปลี่ยนกับทหาร แต่เหตุการณ์ก็ไม่มีอะไร แต่มาคิดเสียใจและเสียว เราไม่มีความรู้ ด้านทหารยืนถือปืนซ้ำยังส่องไฟฉายไปตามแนวที่รับผิดชอบ ถ้า ผกค. พร้อมที่จะปฏิบัติการเราก็คงเป็นเป้ากระสุนแน่ ๆ เลย (ปฏิบัติงานอยู่ 3 เดือน เสร็จสิ้นภาระกิจ)

โดย กฤษณ์ ฤทธิ์รอด

Monday, September 14, 2009

บทกวี.....คนเคยเดินดอย.

|0 ความคิดเห็น

ไม่ใช่ว่าทุกคน จะมีโอกาส เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าทุกคน จะไม่มีโอกาสเลย แต่...ทุกคนจะใช้โอกาสนั้น “ได้อย่างไร” ก่อนที่คนเราจะมีโอกาส “เลือก” เราต้องผ่านอะไรมามากมาย ผ่าน ลำห้วย ภูต่ำ ดอยสูง นั่นแหละ! วัยจะทำให้รู้ว่า ภูต่ำดอยสูงนั้น “มันเจ็บปวดต่างกัน” ยอดดอย ภูสูง ดอยต่ำ ป่าไม้ เงียบสงบยิ่งนัก ไม่มีผู้คน ไม่มีสรรพเสียง ยิ่งสงบ ยิ่งได้ 

ปิ่นชาย ปิ่นแก้ว ....ผู้ประพันธ์

Tuesday, September 1, 2009

รอยเท้าบนทางดอย

|0 ความคิดเห็น

                 ทางดอยยังคง ทอดยาวไป ลับ ๆ ไกลไกล สุดสายตา เมื่อม่านหมอกหม่นมัวสลาย วันคืนคลี่คลายและเปลี่ยนแปลง กาลเวลาอาจพา ให้เปลี่ยนไป แต่ไม่อาจลบเลือน ความทรงจำ จำในวันที่เรา เคยเดินทาง ก้าวอยู่บนสายทาง เส้นเดียวกัน ทางดินเคยเดิน ฝ่าดงดอย ลำน้ำน้อย ๆ เอื่อยไหลริน แดดร้อนฝุ่น ฝนโคลน เปียกปอน เป็นเพียง วงจร ฤดูกาล กาลเวลาอาจพา ให้เปลี่ยนไป แต่ไม่อาจลบเลือน ความทรงจำ จำในวันที่เรา เคยเดินทาง ก้าวอยู่บนสายทาง เส้นเดียวกัน ทางดอยเดินยังเป็นเส้นทางเดิม ชีวิตผู้คน วนวกเวียน ถึงถนนกี่ทาง ทอดสาย ปลายทาง สุดท้าย ยังมั่นคง กาลเวลาอาจพา ให้เปลี่ยนไป แต่ไม่อาจลบเลือน ความทรงจำ จำในวันที่เรา เคยเดินทาง ก้าวอยู่บนสายทาง เส้นเดียวกัน จำในวันที่เรา เคยเดินทาง ทิ้งรอยเท้าบนทางดอย...

Sunday, August 30, 2009

ผิดผี ตอน 2

|0 ความคิดเห็น

                 ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2518 – 2521 ผู้เขียนได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานที่ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดลำพูน ในชุดหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวบ้านแม่ขนาดหลวง เขตพื้นที่อำเภอแม่ทา ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงโปว์ ชาวเขาหมู่บ้านแห่งนี้มีความเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นอย่างมาก มีความเชื่อในเรื่องผี พวกเขาเชื่อว่าทุกหนทุกแห่ง มีผีสิงสถิตอยู่ เช่น ผีน้ำ ผีป่า ผีไร่ ผีเรือน ผีประจำหมู่บ้าน ฯลฯ มีทั้งผีดีที่คอยคุ้มครองปกปักรักษาให้อยู่ดีมีสุข และผีร้ายที่จะทำให้ได้รับความลำบากความไม่สบายต่างๆ หากสมาชิกคนหนึ่งคนใดในครอบครัว เกิดเจ็บป่วยไม่สบายหรือได้รับอุบัติเหตุเคราะห์กรรมอะไรก็ตาม พวกเขาเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผีผีลงโทษเพราะไปทำให้ผีโกรธ จะต้องทำพิธีบอกกล่าวขอขมาต่อผี โดยการมอบหมายงานให้ทำ บางคนไปตักน้ำหาบน้ำ บ้างก็ไปหาฟืน บ้างไปเก็บเลี้ยงผี เพื่อให้เหตุร้ายหายหรือบรรเทาเบาบางลง ผู้ที่มีความสามารถติดต่อสื่อสารกับผีได้คือ หมอผี หรือ “ข่างคู” หมอผีหรือข่างคูนี้มีอยู่สองคนชื่อนายใจผู้เป็นหัวหน้า และนายดีเป็นผู้ช่วยหมอผี บทบาทหน้าที่ของบุคคลทั้งสองจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับผี บางครั้งทำหน้าที่เกี่ยวกับการตัดสินคดีความเมื่อเกิดมีความขัดแย้งภายในหมู่บ้าน ทุกคนในหมู่บ้านนี้ให้ความเคารพเกรงกลัวหมอผีมาก และหมอผีเองก็มีความสำนึกและตระหนักในภาระและบทบาทหน้าที่นี้เพื่อรักษาไว้ซึ่งระเบียบสังคมที่ดีงามตามที่บรรพบุรุษได้ยึดถือปฏิบัติติดต่อกันมาไว้ตราบนานเท่านาน

ผิดผี ตอน 1

|0 ความคิดเห็น


          ชุมชนบนพื้นที่สูงของประเทศไทย ประกอบไปด้วยชาวเขาเผ่าต่างๆที่อาศัยอยู่ตามบริเวณที่เป็นป่าเขาทางด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือของประเทศไทย ประกอบไปด้วยเผ่ากะเหรี่ยง มูเซอ แม้ว ลีซอ เย้า อีก้อ ขมุ ลัวะ ตองเหลือง นอกจากชาวเขาดังกล่าว ยังมีชุมชนกลุ่มอื่นที่อาศัยปะปน อยู่กับชาวเขา เช่น ไทยใหญ่ ไทยลื้อ จีนฮ่อ และอื่นๆ รวมทั้งคนไทยที่ทำมาหากินบนพื้นที่สูง ชุมชนเหล่านี้มีภาษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณี ลัทธิความเชื่อ ตลอดจน วิถีชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างกันไปตามเผ่าพันธุ์ แต่เดิมสังคมของชุมชนบนพื้นที่สูง อยู่กันอย่างโดดเดี่ยว การติดต่อสมาคมกับ คนพื้นราบหรือคนต่างวัฒนธรรมมักจะไม่ค่อยปรากฏ เนื่องจากถูกจำกัดด้วยสภาพพื้นที่และการคมนาคม ประกอบกับมีความยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีในเผ่าพันธุ์ของตนอย่างแนบแน่น

          วิถีชีวิตมีความผูกพันอยู่กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชื่อว่า ในธรรมชาตินั้นมีภูตผี ปีศาจและสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ จึงมีความกลัว เคารพ ยำเกรง และนอบน้อมต่อธรรมชาติ มีความเชื่อว่าในธรรมชาติมีพลังอำนาจลึกลับที่คอยปกปักรักษาต่อทุกชีวิตในชุมชนให้ปลอดภัย เพื่อดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์และมีความเชื่อว่าบุคคลใดก็ตามที่ประพฤติตนผิดจารีตประเพณีหรือศีลธรรมดีงาม จะต้องถูกธรรมชาติลงโทษให้ได้รับความเดือดร้อนต่างๆ นานา

           การที่จะขจัดปัดเป่าเพื่อให้ภัยพิบัติบรรเทาลง ก็คือการขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยการเซ่นไหว้ ถึงแม้ในยามปกติพวกเขายังต้องแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยการนำเครื่องเซ่นไหว้ทำพิธีสักการะตามโอกาสและประเพณีนิยมของแต่ละเผ่าพันธุ์ พวกเขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีจริง ถึงแม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่เป็นการกระทำที่สืบทอดกันมาจนกลายเป็นระเบียบสังคมที่คอยควบคุม พฤติกรรมของคนในสังคมของแต่ละเผ่า อาจถือได้ว่าเป็นระเบียบหรือกฎเกณฑ์ที่มิได้บัญญัติไว้ เป็นลายลักษณ์อักษรที่ยึดถือปฏิบัติกันมานับหลายชั่วอายุคน จนกลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของพวกเขา จวบจนกระทั่งต่อมาอำนาจรัฐเริ่มเข้าไปมีบทบาทในการควบคุมและกำหนดพฤติกรรมของชาวเขาแทนระบบเดิม ซึ่งมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม

โดย.....นายไพโรจน์ เสริมมา

Saturday, August 22, 2009

ความทรงจำเมื่อครั้งเดินดอย-ตอนจบ

|0 ความคิดเห็น

            พวกเราทำงานร่วมกันได้พักหนึ่ง คุณศักดิ์ทิพย์ ก็โอนไปอยู่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (ตอนหลังโอนไปกระทรวงการต่างประเทศ) คุณสามารถก็โอนไปอยู่สภาความมั่นคงแห่งชาติเช่นกัน เหลือผมกับคุณอิรวัชร์ ที่ยังเดินดอยกันอยู่ร่วมกับเพื่อน ๆ อีกหลายคน ซึ่งก็ได้ดิบได้ดีไปแล้วมากราย ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ ก็ไม่น้อย จนในที่สุดชีวิตก็ผันแปรทำให้ผมได้โอนไปอยู่สำนักงาคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ หลังจากอยู่กองชาวเขามาประมาณ 5 ปี ในช่วงที่ผมมาทำงานอยู่ที่กรมประชาสงเคราะห์นั้นเป็นช่วงของท่านอธิบดีสุวรรณ รื่นยศ และต่อมาคือท่านอธิบดีเทียน อัชกุล ส่วนหัวหน้ากองสงเคราะห์ชาวเขา ก็มีคุณประสิทธิ ดิศวัฒน์ คุณวิจิต ปิยารมย์ และคุณวิฑูร ทองรมย์ ซึ่งเป็นคนสุดท้ายก่อนที่ผมจะโอนไปอยู่สภาพัฒน์ (และต่อมาผมได้โอนไปอยู่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือสำนักงาน กปร.) และก่อนผมจะย้ายไปนั้นคุณพิโดร อังศุสิงห์ ซึ่งท่านเป็นเลขานุการกรมในขณะนั้นก็มาพูดกับผมเป็นนัย ว่าผมอยากจะไปเป็นประชาสงเคราะห์จังหวัดไหม (ท่านคงนึกว่าผมเบื่อกองชาวเขามั้ง) ซึ่งผมก็ตอบปฏิเสธในความปรารถนาดีของท่านไป และก็ได้ออกไปจากกรมประชาสงเคราะห์ไปตามดวงที่ลิขิตไว้ดด้วยความทรงจำที่ดีงาม 

         ในช่วงนั้น ผมได้เลื่อนชั้นเป็นพนักงานประชาสงเคราะห์โทแล้ว และเป็นช่วงที่ ก.พ.กำลังปรับระบบยศชั้นเป็น พี ซี ตอนนั้นผมจำได้ว่าเป็นข้าราชการชั้นโทก็เท่ห์พอสมควรแล้ว แต่พอปรับซี 4 ไปซี 11 ก็แหงนคอตั้งบ่าแน่กว่าจะถึงจุดนั้น แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะคิดว่าก่อนเกษียณถ้าได้เป็นหัวหน้ากองก็เท่ห์น่าดูและเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลแล้ว ไม่ได้คิดมักใหญ่ฝ่าไกลไปถึงซี 11 หรอก 

         ผมย้ายไปแล้ว ผมก็ยังคิดถึงกองสงเคราะห์ชาวเขาเสมอเวลาผมขับรถผ่านกรมประชาสงเคราะห์ครั้งใด ผมก็อมไม่ได้ที่จะมองมาที่ชั้น 4 และนึกภาพในอดีตต่างๆ นานา ผมมีความประทับใจ ผมได้รับความรู้และประสบการณ์มากมายในการที่ได้เรียนรู้ชีวิตการรับราชการนั้นเป็นอย่างไร อะไรควร อะไรไม่ควรและอะไรที่ควรจะทำต่อไปและทำอย่างไร ประสบการณ์นั้นสอนให้เรารู้ระบบ ระเบียบ วินัย ถึงแม้จะเกกมะเหรกเกเรบ้างตามวัน แต่เราก็ทำงานด้วยใจจริง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ได้ไปเบียดเบียนหรือเลื่อยขาเก้าอี้ใคร เราก็อยู่ได้สบาย ๆ ไม่มีปัญหา ประสบการณ์นี้ยังติดตัวผมมาจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งนับว่าเป็นบุญคุณของเพื่อนพ้องน้องพี่กองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ ที่มีแก่ตัวผม และนอกจากประสบการณ์เหล่านี้แล้ว ผมก็ประทับใจต่อการปกครองภายในกองชาวเขา ในตอนนั้นที่อยู่กันฉันท์พี่น้อง มีความเอื้ออารีและปรองดองสามัคคีกันไม่มี “นักวิ่ง” อะไรกันเลย (ไม่รู้ว่าสมัยนี้มีหรือเปล่า) ใครได้ก็ดีก็เฮด้วย ใครซวยก็ไปกินเหล้ากัน ก็เท่านั้นเอง จริง ๆ นะครับ
พิมลศักดิ์ สุวรรณทัต
อดีต พนักงานประชาสงเคราะห์โท กองสงเคราะห์ชาวเขากรมประชาสงเคราะห์
อดีต เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)
กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิชัยพัฒนา
21 สิงหาคม 2545

ความทรงจำเมื่อครั้งเดินดอย-ตอน 3

|0 ความคิดเห็น

            เดินดอยไป ๆ มา ๆ อยู่หลายปี ก็พอดีเวียดนามใต้ถูกเวียดกงตีแตก ชาวเวียดนาม (ใต้) แตกกระสานซ่านเซนไปตามประเทศต่างๆ ซึ่งบางส่วนนับร้อยนับพัน นับหมื่นคนได้อพยพมาทางเรือแล้วก็มาเกยหาดต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งหาดที่ดัง ๆ ในสมัยนั้นก็อยู่แถว ๆ แสมสาร สัตหีบนี่แหละครับ ระยะนั้นหน่วยงานต่างๆ ที่จะรองรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ก็ยังไม่มีใคร หน่วย UNHCR หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติก็ยังไม่เข้ามาทำอะไร

        ก็มีแต่กองสงเคราะห์ผู้ประสบภัย กรมประชาสงเคราะห์นี่แหละที่รัฐบาลมอบหมายให้จัดการควบคุมดูแลผู้อพยพลี้ภัยเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่ 99 เปอร์เซ็นต์ พูดภาษาฝรั่งเศส ท่านหัวหน้ากองสงเคราะห์ผู้ประสบภัยในขณะนั้นรู้สึกว่าคือคุณ ประวิทย์ หาญณรงค์ ก็เลยมาขอตัวผม ซึ่งจบมาจากฝรั่งเศสให้ไปเป็นล่ามประจำอยู่ที่ทำการสนามที่สัตหีบ ที่ทำการสนามนี้ก็คือค่ายควบคุมผู้อพยพพวกนี้นั่นเอง ผมไม่มีหน้าที่อะไรนอกจากเป็นล่าม แต่ทำไปทำมางานแทบทุกอย่างผมต้องรับมาทำเองเกือบหมด

          เพราะพวกเวียดนามจะไม่ไปหาใครอื่นใด แต่จะแห่มาหาผมโดยตรงเลยตั้งแต่ประท้วงเรื่องอาหาร ขอเครื่องกีฬาไว้ออกกำลังกาย ส้วมเต็มส้วมตัน ฯลฯ และยังต้องประสานกับหน่วยงานระหว่างประเทศในการติดตามผู้สูญหาย เช่น สามีขึ้นเรือคนละลำกับภรรยาและเรือภรรยามาเกยตื้นที่สัตหีบ แต่เรือสามีไปไหนไม่รู้ ผมก็ต้องแจ้งไปประเทศต่าง ๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฯลฯ แม้กระทั่วศูนย์ประสานงานกลางที่อเมริกาว่าพบสามีเขาไหม ฯลฯ ผมทำอยู่คนเดียว นอกจากนี้ผมก็ต้องคัดเลือกพวกอพยพนี้เพื่อส่งต่อไปประเทศที่ 3 (ซึ่งทำให้ผมใหญ่พอสมควรเพราะพวกเวียดนามเหล่านี้กลัวผมไม่เลือกเขาไป) ผมจะต้องคัดเลือกแล้วขับรถ (ส่วนตัว) ไปติดต่อสถานฑูตต่าง ๆ ตามลำพังคนเดียว เช่น เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อเมริกา ฯลฯ เพื่อไปชี้แจงขอร้อง ขอวีซ่าให้พวกนี้ออกไปให้ได้ซึ่งกว่าจะได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย และพอสถานฑูตเขายอมรับแล้วก็ต้องพาไปตรวจโรคฉีดวัคซีนที่สภากาชาดไทย ไปดำเนินการตามขั้นตอนของพิธีการตรวจคนเข้าเมือง พาไปกินข้าวแล้วขัยรถ (ส่วนตัว) กลับไปนอนที่ค่อยอพยพที่สัตหีบดังเดิม บางครั้งก็แวะพัทยาลี้ยงข้าวเย็นพวกเขาอีกก็มี พอจัดการตามขั้นตอนต่างๆ ครบแล้ว และได้ตั๋วเครื่องบินแล้ว ก็มีผมคนเดียวอีกนั่นแหละที่จะต้องขับรถ (ส่วนตัว) พาไปส่งที่สนามบินดอนเมือง ผู้อพยพเหล่านี้บางคนมีเงินมีทอง (ทองแท่ง ทองใบ) มากมาย บางคนไปซื้อโรงแรมที่ปารีสทำธุรกิจร่ำรวยอยู่ในขณะนี้ก็หลายคน ผมขับรถไป-ลับ ๆ ระหว่างกรุงเทพฯ สัตหีบแทบทุกวัน จนไม่ไหวจริง ๆ แล้ว จึงบอกศาลากลับมาเดินดอยกับพรรคพวกเพื่อนฝูงเหมือนเดิม


           ซึ่งในที่นี้ใคร่จะขอกล่าวไว้ด้วยว่าหลังจากที่ผมมาอยู่กองชาวเขาได้ไม่กี่เดือนก็มีนักเรียนนอกอีก 3 คนเดินเข้ามาอยู่กองชาวเขาตามลำดับ คือ คุณอิรวัชร์ จันทรประเสริฐ คุณศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ และคุณสามารถ ศรียานงค์ ทั้ง 3 ท่านนี้จบมาจากอเมริกาใหม่ ๆ สด ๆ มีผมคนเดียวที่จบจากฝรั่งเศส แต่พวกเราก็มาทำงานร่วมกันเฮฮาสนิทสนม สนุกสนานกับเต็มที่ ทุกคนผ่านการเดินดอยแทบอาเจียนมาแล้วทั้งนั้น คนเดินดอยพวกนี้แหละได้ดิบได้ดีเป็น ซี 10 ซี 11 กันทั้งนั้น คุณอิรวัชร์ ได้เป็นปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม คุณศักดิ์ทิพย์ เป็นเอกอัครราชฑูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา คุณสามารถเป็นรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่เบากันเลยทุกคน ผมเองเคยไปเดินดอย ชื่อว่าดอยสะเหร่เดที่แม่ฮ่องสอน (ถ้าจำไม่ผิด) เดินไป 2 วัน กับ 1 คืน เมื่อขึ้นไปถึงยอดแล้วได้ยินเสียง ป็อก ป็อก ๆๆ ก็เลยถามพรรคพวกที่ไปด้วยกันว่าเสียงอะไร เขาตอบย่าเสียงเทวดาตำน้ำพริกครับ แสดงว่าดอยนี้มันสูงจริง ๆ สมารถจิตนาการได้ว่าสูงขนาดอยู่ใต้ถุนบ้านเทวดาทีเดียวและเมื่อเดินลงมาแล้วเหลียวหลังกลับไปดูก็ยังสงสัยอยู่เลยว่าเราเดินขึ้นไปได้ยังไงมันสูงเสียดฟ้าออกอย่างนั้น
พิมลศักดิ์ สุวรรณทัต
อดีต พนักงานประชาสงเคราะห์โท กองสงเคราะห์ชาวเขากรมประชาสงเคราะห์
อดีต เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)
กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิชัยพัฒนา
21 สิงหาคม 2545

ความทรงจำเมื่อครั้งเดินดอย-ตอน 2

|0 ความคิดเห็น
            งานชาวเขากับงานต่างประเทศในสมัยนั้นก็ไม่มีอะไรมากมายนัก นอกจากเรื่องของความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ซึ่งก็ไม่มีอะไรเท่าไหร่ ท่านหัวหน้ากองประสิทธิ์ ก็เลยจับผมไปเดินคอยดูบ้าง ในลักษณะเป็นหน่วยตรวจสอบเพื่อไปตรวจหน่วยเคลื่อนที่อีกทีว่าหน่วยเคลื่อนที่ที่กองส่งไปประจำตามหมู่บ้านชาวเขาในจังหวัดต่างๆ นั้น เขาไปทำอะไร หรือแอบลงไปนอนอยู่ในเมือง และเขียนรายงานโดยอาศัยจินตนาการส่งมาส่วนกลางทุกเดือน ๆ ช่วงนี้แหละครับสนุกมากทำให้ได้ไปสัมผัสผู้คนในสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ไปเรียนรู้ชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวเขาเผ่าต่างๆ ไปสมบุกสมบัน ขึ้นเขาลงห้วย กินเหล้า สูบฝิ่น (เป็นบางโอกาสที่ชาวเขานำมาให้โดยบอกว่าถ้าไม่สูบก็ไม่เป็นเพื่อนแท้กัน ผมกลับจะเสียจิตวิทยา ก็เลยต้องจำใจสูบ !!) บางครั้งเขาให้สูบรวดเดียว 10 บ้องก็ยังเคย อ้อ! อยากจะบอกด้วยว่าการสูบฝิ่นนี้ต้องสูบให้เป็นและมีศิลปะนะครับ ถ้าสูบไม่เป็นพวกชาวเขาจะมองหน้าเอาเพราะเสียดายฝิ่น (ซึ่งมีราคาแพงมาก) คือเขาจะปั้นฝิ่นเป็นลูกกลม ๆ ขนาดปลายนิ้วก้อยไปวางบนบ้องและจุดไฟให้เราสูบ (นอนสูบ) เข้าไป ซึ่งต้องสูบอัดควันเข้าไปทีเดียวจนกว่าฝิ่นจะละลายหมดก้อน ไม่ใช้สูบแบบสูบบุหรี่ที่สูบไปพ่นควันไปแบบนี้ถือว่าสูบไม่เป็น เขาต้องสูบแล้วหายใจลึก ๆ นาน ๆ รวดเดียวจนแทบเรียกว่าควันเข้าไปจนถึงลำไส้ใหญ่นั่นแหละครับจนเนื้อฝิ่นที่อยู่บนบ้องจะละลายหมด จึงถอนหายใจได้ เรียกว่าตื่นขึ้นมาตัวปลิวเพราะฤทธิ์มอร์ฟีนทำให้อาการปวดเมื่อยที่เดินดอยมาทั้งวันหายเป็นปลิดทั้งอย่างเหลือเชื่อ (ที่เขียนมานี้เป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีเท่าไหร่นะครับ ห้ามลอกเลียนแบบ)

          ผมเดินอยู่บนภูเขา ป่าดงพงไพรไต่อยู่บนปากเหว เคยจะเหยียบงูจงอาง เคยเจอเสือกินน้ำอยู่ริมลำธาร (เมื่อต่างฝ่ายต่างเห็นกันก็ต่างฝ่ายต่างเผ่นด้วยกันทั้งคู่) เคยพบหมู่บ้านหนึ่งแถวๆ ป่าลึกที่แม่ฮ่องสอนที่ผู้หญิงจะแก้ผ้าเดินแถวเรียงหนึ่งไปอาบน้ำในลำธาร มันช่างเป็นชีวิตที่มีชีวาเสียจริง ๆ


พิมลศักดิ์ สุวรรณทัต
อดีต พนักงานประชาสงเคราะห์โท กองสงเคราะห์ชาวเขากรมประชาสงเคราะห์
อดีต เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)
กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิชัยพัฒนา
21 สิงหาคม 2545