Sunday, August 16, 2009

40 ปีการพัฒนาชาวเขา(5)

การตั้งนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขา ซึ่งแต่เดิมองค์กรภายใต้กรมประชาสงเคราะห์ ที่รับผิดชอบงานพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา คือ กองนิคมสร้างตนเอง เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2502 คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้ง นิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขา ขึ้น ในแถบพื้นที่ที่มีชาวเขาอยู่อย่างหนาแน่น 4 แห่ง โดยในปี พ.ศ. 2503 กองนิคมสร้างตนเองได้ดำเนินการทดลองการสงเคราะห์ชาวเขาในรูปนิคมสร้างตนเอง ก่อน 2 แห่ง คือ ที่ ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และที่ดอยมูเซอ จังหวัดตาก และ ปี พ.ศ. 2505 ได้ดำเนินการเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ ที่ ดอยภูลมโล เขตติดต่อจังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก และเลย และที่ ดอยม่อนแสนใจ จังหวัดเชียงราย ซึ่งรวมเนื้อที่ทุกแห่งทั้งสิ้นประมาณ 400,000 ไร่ เพื่อรวบรวมชาวเขาที่อยู่กระจัดกระจาย ซึ่งยากแก่การที่เจ้าหน้าที่จะเดินทางไปพัฒนาและสงเคราะห์ได้โดยทั่วถึงให้เข้ามาตั้งหลักแหล่งและประกอบอาชีพเป็นการถาวรในเขตนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขา พร้อมทั้งให้การพัฒนาและสงเคราะห์ ทั้งทางด้านการส่งเสริมอาชีพการเกษตร และอุตสาหกรรมในครัวเรือน แทนการปลูกฝิ่น ด้านการศึกษา การอนามัย และด้านการสังคมสงเคราะห์ โดยให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้า ได้แก่ การแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นแก่การครองชีพ เช่น เสื้อผ้า เครื่องกันหนาว และยารักษาโรค นอกจากนั้นยังได้จัดสรรที่ดินเพื่อการครองชีพ ทำการรังวัดที่ดินสำหรับทำกินให้แก่ครอบครัวชาวเขา แล้วดำเนินการช่วยเหลือให้เข้าทำกินในที่ที่จัดสรรไว้ ให้ทำการปรับพื้นที่ จัดหาพันธุ์พืชและสัตว์ที่เหมาะสมออกแจกจ่าย และให้กู้ยืมเงินเพื่อการเพาะปลูกในระยะยาวด้วย
ในระหว่างการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขาขึ้นนั้นกรมประชาสงเคราะห์ตระหนักถึงการวางแผนดำเนินงานในระยะต่อไป จำเป็นต้องมีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับชาวเขา จึงได้ร่วมกับกรมตำรวจและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการสำรวจข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวเขาขึ้น ระหว่างปี พ.ศ. 2504-2505 ผลจากการสำรวจพบว่ามีประชากรชาวเขาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ 500,000 คน ซึ่งมีชาวเขาอาศัยอยู่นอกพื้นที่นิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขา อีกจำนวนมาก และทราบปัญหาชาวเขาต่างๆ ซึ่งคณะกรรมการสงเคราะห์ชาวเขาได้นำไปปรับใช้ประโยชน์เป็นแนวทางการพัฒนาชาวเขา

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.