Wednesday, August 12, 2009

ถึงเดินดงลงห้วยยังรวยฝัน


ตอน 1: ดอยแม่เหาะ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประสบการณ์ชีวิตจริง ของนักพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา คนหนึ่งที่ถ่ายทอด ความรู้สึก ความยากลำบาก ในการเดินดอย ลูกแล้ว ลูกเล่า กว่า 30 ปี ตลอดชีวิต ราชาการ ที่เป็นนักพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา กองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ ในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร เต็มไปด้วยภัยอันตราย นานาประการ ........
ต้นเดือนตุลาคม 2514 ลมหนาวถิ่นเหนือกำลังพัดกระหน่ำดอยแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จนหนาวยะเยือกไปทุกรูขุมขน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กองสงเคราะห์ชาวเขาร่วม ๆ สองร้อยชีวิต กำลังทำกิจกรรมที่เรียกกันว่าการฝึกอบรมปฐมนิเทศ เจ้าหน้าที่ใหม่ มีการบรรยายทางวิชาการให้รู้จักวิถีชีวิตของชนชาวเขาเผ่าต่าง ๆ การยังชีพในป่าอะไรเทือกนี้ ผมเอง ก็เป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในฐานะอะไรเห็นเขาเรียกกันว่าวิสามัญรอสอบอะไรทำนองนั้น การฝึกอบรมโดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งเก่าและใหม่จากทุกศูนย์ไปรวมกันอยู่ที่แม่เหาะในครั้งนั้นเห็นที ว่าจะทำได้เพียงครั้งเดียว เพราะจากบัดนั้นจนบัดนี้ไม่เห็นมีอีกเลย บางคนบอกว่าเป็นการอบรมแบบฝนตกขี้หมูไหล เพราะมีทั้ง พี่เก่าน้องใหม่ และกลางเก่ากลางใหม่ผสมผสานกันอย่างน่าพิศวง
การรับน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยเขามีโยนน้ำ โยนบกกัน แต่ที่แม่เหาะมีการถีบเข้ากองไฟ น่าตื่นเต้นและน่าหวาดเสียวไปอีกแบบ เห็นจะเป็นเพราะอากาศหนาวแบบเป็นใจกับคนไม่ชอบอาบน้ำ ตกค่ำก็เลยมีการสัมมนารอบ กองไฟกันทุกค่ำคืน และก็เป็นธรรมดาของการสัมมนา เมื่อความเห็นไม่ตรงกัน ก็ต้องมีการปากแตก ตาเขียว ฟก ช้ำกันบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องแปลกแต่จริง พอวันรุ่งขึ้นก็เห็นคู่กรณีนั่งร่วมวงกันเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่อาจจะเป็น เอกลักษณ์ของกองชาวเขาที่กองอื่นไม่มี ก็เป็นได้ ซึ่งในเวลาต่อมาเมื่อผมต้องออกเดินดอย จริง ๆ ก็เข้าถึงสัจธรรม เพราะชีวิตการงานมันต้องพึ่งพาอาศัยกันมองไปทางไหนก็เห็นแต่ป่ากับ ภูเขา ต่างรู้กันว่าชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้แหละ ภารกิจของผมที่ต้อง "ขาขึ้นขึ้นตามเขาโค้ง ขาลลงลงตามเขาชัน" ก็เริ่มต้นที่แม่เหาะตอนต้นเดือนตุลาคม 2514 นี่เอง เพื่อนสมาชิกที่ร่วมชะตากรรมเดียวกันในครั้งนั้นที่ยังเดินเข้าออกอยู่ใน กองชาวเขายังคงพอมีนับตัวได้

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.