Saturday, August 22, 2009

ความทรงจำเมื่อครั้งเดินดอย-ตอน 3


            เดินดอยไป ๆ มา ๆ อยู่หลายปี ก็พอดีเวียดนามใต้ถูกเวียดกงตีแตก ชาวเวียดนาม (ใต้) แตกกระสานซ่านเซนไปตามประเทศต่างๆ ซึ่งบางส่วนนับร้อยนับพัน นับหมื่นคนได้อพยพมาทางเรือแล้วก็มาเกยหาดต่าง ๆ ในประเทศไทย ซึ่งหาดที่ดัง ๆ ในสมัยนั้นก็อยู่แถว ๆ แสมสาร สัตหีบนี่แหละครับ ระยะนั้นหน่วยงานต่างๆ ที่จะรองรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ก็ยังไม่มีใคร หน่วย UNHCR หรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติก็ยังไม่เข้ามาทำอะไร

        ก็มีแต่กองสงเคราะห์ผู้ประสบภัย กรมประชาสงเคราะห์นี่แหละที่รัฐบาลมอบหมายให้จัดการควบคุมดูแลผู้อพยพลี้ภัยเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่ 99 เปอร์เซ็นต์ พูดภาษาฝรั่งเศส ท่านหัวหน้ากองสงเคราะห์ผู้ประสบภัยในขณะนั้นรู้สึกว่าคือคุณ ประวิทย์ หาญณรงค์ ก็เลยมาขอตัวผม ซึ่งจบมาจากฝรั่งเศสให้ไปเป็นล่ามประจำอยู่ที่ทำการสนามที่สัตหีบ ที่ทำการสนามนี้ก็คือค่ายควบคุมผู้อพยพพวกนี้นั่นเอง ผมไม่มีหน้าที่อะไรนอกจากเป็นล่าม แต่ทำไปทำมางานแทบทุกอย่างผมต้องรับมาทำเองเกือบหมด

          เพราะพวกเวียดนามจะไม่ไปหาใครอื่นใด แต่จะแห่มาหาผมโดยตรงเลยตั้งแต่ประท้วงเรื่องอาหาร ขอเครื่องกีฬาไว้ออกกำลังกาย ส้วมเต็มส้วมตัน ฯลฯ และยังต้องประสานกับหน่วยงานระหว่างประเทศในการติดตามผู้สูญหาย เช่น สามีขึ้นเรือคนละลำกับภรรยาและเรือภรรยามาเกยตื้นที่สัตหีบ แต่เรือสามีไปไหนไม่รู้ ผมก็ต้องแจ้งไปประเทศต่าง ๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฯลฯ แม้กระทั่วศูนย์ประสานงานกลางที่อเมริกาว่าพบสามีเขาไหม ฯลฯ ผมทำอยู่คนเดียว นอกจากนี้ผมก็ต้องคัดเลือกพวกอพยพนี้เพื่อส่งต่อไปประเทศที่ 3 (ซึ่งทำให้ผมใหญ่พอสมควรเพราะพวกเวียดนามเหล่านี้กลัวผมไม่เลือกเขาไป) ผมจะต้องคัดเลือกแล้วขับรถ (ส่วนตัว) ไปติดต่อสถานฑูตต่าง ๆ ตามลำพังคนเดียว เช่น เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อเมริกา ฯลฯ เพื่อไปชี้แจงขอร้อง ขอวีซ่าให้พวกนี้ออกไปให้ได้ซึ่งกว่าจะได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย และพอสถานฑูตเขายอมรับแล้วก็ต้องพาไปตรวจโรคฉีดวัคซีนที่สภากาชาดไทย ไปดำเนินการตามขั้นตอนของพิธีการตรวจคนเข้าเมือง พาไปกินข้าวแล้วขัยรถ (ส่วนตัว) กลับไปนอนที่ค่อยอพยพที่สัตหีบดังเดิม บางครั้งก็แวะพัทยาลี้ยงข้าวเย็นพวกเขาอีกก็มี พอจัดการตามขั้นตอนต่างๆ ครบแล้ว และได้ตั๋วเครื่องบินแล้ว ก็มีผมคนเดียวอีกนั่นแหละที่จะต้องขับรถ (ส่วนตัว) พาไปส่งที่สนามบินดอนเมือง ผู้อพยพเหล่านี้บางคนมีเงินมีทอง (ทองแท่ง ทองใบ) มากมาย บางคนไปซื้อโรงแรมที่ปารีสทำธุรกิจร่ำรวยอยู่ในขณะนี้ก็หลายคน ผมขับรถไป-ลับ ๆ ระหว่างกรุงเทพฯ สัตหีบแทบทุกวัน จนไม่ไหวจริง ๆ แล้ว จึงบอกศาลากลับมาเดินดอยกับพรรคพวกเพื่อนฝูงเหมือนเดิม


           ซึ่งในที่นี้ใคร่จะขอกล่าวไว้ด้วยว่าหลังจากที่ผมมาอยู่กองชาวเขาได้ไม่กี่เดือนก็มีนักเรียนนอกอีก 3 คนเดินเข้ามาอยู่กองชาวเขาตามลำดับ คือ คุณอิรวัชร์ จันทรประเสริฐ คุณศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ และคุณสามารถ ศรียานงค์ ทั้ง 3 ท่านนี้จบมาจากอเมริกาใหม่ ๆ สด ๆ มีผมคนเดียวที่จบจากฝรั่งเศส แต่พวกเราก็มาทำงานร่วมกันเฮฮาสนิทสนม สนุกสนานกับเต็มที่ ทุกคนผ่านการเดินดอยแทบอาเจียนมาแล้วทั้งนั้น คนเดินดอยพวกนี้แหละได้ดิบได้ดีเป็น ซี 10 ซี 11 กันทั้งนั้น คุณอิรวัชร์ ได้เป็นปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม คุณศักดิ์ทิพย์ เป็นเอกอัครราชฑูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา คุณสามารถเป็นรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่เบากันเลยทุกคน ผมเองเคยไปเดินดอย ชื่อว่าดอยสะเหร่เดที่แม่ฮ่องสอน (ถ้าจำไม่ผิด) เดินไป 2 วัน กับ 1 คืน เมื่อขึ้นไปถึงยอดแล้วได้ยินเสียง ป็อก ป็อก ๆๆ ก็เลยถามพรรคพวกที่ไปด้วยกันว่าเสียงอะไร เขาตอบย่าเสียงเทวดาตำน้ำพริกครับ แสดงว่าดอยนี้มันสูงจริง ๆ สมารถจิตนาการได้ว่าสูงขนาดอยู่ใต้ถุนบ้านเทวดาทีเดียวและเมื่อเดินลงมาแล้วเหลียวหลังกลับไปดูก็ยังสงสัยอยู่เลยว่าเราเดินขึ้นไปได้ยังไงมันสูงเสียดฟ้าออกอย่างนั้น
พิมลศักดิ์ สุวรรณทัต
อดีต พนักงานประชาสงเคราะห์โท กองสงเคราะห์ชาวเขากรมประชาสงเคราะห์
อดีต เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)
กรรมการและเหรัญญิกมูลนิธิชัยพัฒนา
21 สิงหาคม 2545

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.